กฎหมายน่ารู้
กฎหมายคืออะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดคำนิยามความหมายของคำว่า "กฎหมาย" ไว้ว่า
"กฎหมาย" (กฎ) น. กฎ ที่สถาบัน หรือ ผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐ ตราขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นจาก จารีตประเพณี อันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อ ใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อ ใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือ เพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือ ระหว่างบุคคลกับรัฐ
จากข้อความในคำนิยามดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ทุกถ้อยคำ ทุกข้อความ ที่ผู้เขียนขีดเส้นใต้ไว้ ล้วนมีความหมายที่สามารถนำมาแปลและอธิบายขยายความแล้วเกิดความเข้าใจได้ดีทั้งสิ้น ถ้าเราหยิบยกเอาถ้อยคำแต่ละคำที่เป็นคำศัพท์ภาษาหนังสือไทย ขึ้นมาพิจารณาและค้นหาความหมาย จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นว่า ราชบัณฑิตสถาน ได้ให้คำนิยามคำว่า "กฎหมาย" ไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทุกแง่มุม ซึ่งอาจแยกเป็นหัวข้อเรื่องให้วิเคราะห์ความหมายได้ ๔ หัวข้อ เพื่อทราบความหมายโดยละเอียดของคำว่า "กฎหมาย" ดังนี้
(๑). กฎหมายเป็น .กฎ (ซึ่งจะต้องหาความหมายของคำว่า "กฎ" ต่อไป)
(๒). ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย ได้แก่ สถาบัน หรือ ผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐเท่านั้น
(๓). ประเภทของกฎหมาย
กฎหมายมี ๓ ประเภท คือ
(ก) กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ (กฎหมายที่กำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ
(ข) กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (กฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
(ค) กฎหมายที่บัญญัติขึ้น เพื่อกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด (กฎหมายอาญา)
(๔). กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
๑. กฎหมายเป็น กฎ คำว่า "กฎ" เป็นภาษากฎหมายซึ่งราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดคำนิยามไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน หากเราไม่ค้นหาความหมายจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ เราจะไม่สามารถทราบความหมายที่ถูกต้องของคำว่า "กฎ" และ คำว่า "กฎหมาย" ได้เลย
ผู้เขียนจะได้คัดลอกคำศัพท์ ของคำว่า กฎ เอามาให้ทราบ พร้อมด้วยถ้อยคำที่เกี่ยวข้องด้วยดังนี้
"กฎ" (กฎ) น. ข้อกําหนด หรือ ข้อบัญญัติ ที่ บังคับ ให้ต้องมีการปฏิบัติตาม เช่น กฎกระทรวง กฎหมาย
จะเห็นได้ว่า แม้เราได้ทราบความหมายของคำว่า "กฎ" ตามคำนิยามแล้ว แต่ถ้าเรายังไม่ทราบความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องทุกคำ เราก็ยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงและละเอียดถี่ถ้วนอยู่ดี ถ้อยคำดังกล่าวได้แก่
"ข้อกำหนด" น. ข้อความ ที่ระบุเป็นหลักเกณฑ์ หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ หรือ ดําเนินการ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
"ข้อความ" น. เนื้อความตอนหนึ่ง ๆ, ใจความสั้น ๆ ของเรื่อง
"ข้อบัญญัติ" (กฎ) น. กฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้นเพื่อใช้บังคับในเขตขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
"บทบัญญัติ" (กฎ) น. หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมาย
"บังคับ" ก. ใช้อํานาจสั่งให้ทําหรือให้ปฏิบัติ; ให้จําต้องทํา เช่น อยู่ในที่บังคับ; ให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น บังคับเครื่องบินให้ขึ้นลง
จากคำนิยามของถ้อยคำต่างๆเมื่อตีความถ้อยคำต่างๆดังกล่าวทำให้เราได้ความรู้ต่อไปอีกว่า
๑. จากคำว่า "ข้อกำหนด" และ "คำว่า "บทบัญญัติ" ทำให้ได้ทราบว่ากฎหมายของประเทศไทยเรานั้นเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร มิใช่ กฎหมายจารีตประเพณี และทำให้ตีความได้ต่อไปอีกว่า การบัญญัติกฎหมายไทย ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร คือต้องทำเป็นตัวหนังสือ
๒. ตัวหนังสือในกฎหมายนั้น เป็น ข้อความ ที่ระบุเป็นหลักเกณฑ์ หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ หรือ ดําเนินการ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
๓. ข้อความ ที่เป็นหลักเกณฑ์ หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ หรือ ดําเนินการ ต้องมีสภาพบังคับ กล่าวคือ จะต้องมีการใช้อํานาจ สั่งให้ทํา หรือให้ปฏิบัติ หรือให้จําต้องทํา
๔. กฎหมายเกิดขึ้นจากการตราขึ้น หรือบัญญัติขึ้น โดยผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ และกฎหมายอาจเกิดขึ้นจากจารีตประเพณี อันเป็นที่ยอมรับนับถือด้วย